top of page
Image by Tim Gouw

10 study abroad problems you will face

10 ปัญหากวนใจ เวลาไปเรียนเมืองนอก

  1. Homesick : โรคคิดถึงบ้านก็มา

ไม่คิดใช่ไหมว่า เราจะคิดถึงบ้าน ตอนไปอยู่แรกๆ มันก็จะตื่นเต้นดีอยู่ แต่เมื่อบ้านเมืองที่เราไปอยู่มันไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของเรา โรคคิดถึงบ้านมันก็จะถามหา แน่นอนว่าหลายๆ คนต้องเจอกับปัญหานี้ ไม่ว่าจะ คิดถึงพ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อน หรือแฟน แต่เรามีวิธีพิชิตปัญหานี้มาแนะนำ

ยู-อินเตอร์ ขอแนะนำง่ายๆ เลย ถ้าคิดถึงใครก็โทรหาคนนั้น เทคโนโลยีสมัยนี้ทำให้เราใกล้กันมากกว่าที่คิด แต่เดี๋ยวก่อน อย่าคุยให้มันนานเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นคุณจะหยุดคิดถึงพวกเขาไม่ได้ จนไม่เป็นอันทำอะไร ค่อยๆ ลดเวลาในการคุย แล้วไปโฟกัสกับสิ่งอื่นๆ ที่น่าสนใจ ในประเทศที่เราไปอยู่แทน สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ สร้างแรงบันดาลใจ หรือแพลนไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ที่คุณไม่เคยไป คนที่อยู่ที่ข้างหลัง เค้ายังรักและเป็นห่วงคุณอยู่เสมอนั่นแหละ แต่ถ้าเราไม่ก้าวต่อไปข้างหน้า แล้วปล่อยให้ โรคHomesick มาทำให้พลังงานเราลดลง คนทางบ้านเค้าก็จะไม่สบายใจไปเปล่าๆ

2. โรคหลงทางถามหา

ก็ไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง จะให้ไปไหนมาไหนถูกทางก็คงไม่ใช่ อย่าพึ่งสติแตกไป ยู-อินเตอร์ มีวิธีแก้ไขง่ายๆ แต่ต้องใจเย็นๆ อย่างแรกต้องไปหาแผนที่เมืองที่เราอยู่ก่อน พกติดตัวไปทุกๆ ที่ กางแผนที่แล้วกาลงไปบนแผนที่นั้นว่าบ้านเราอยู่ตรงไหน ที่เรียนอยู่ตรงไหน ถ้าหลงก็ยื่นให้คนที่เราไปขอความช่วยเหลือ อ้อ! อย่าลืมเขียนภาษาท้องถิ่นใส่กระดาษเล็กๆ หรือในโทรศัพท์ เป็นคำที่ขอความช่วยเหลือ เช่น Help me, I’m lost เป็นต้น เพื่อที่คนที่คุณไปขอความช่วยเหลือจะได้เข้าใจได้ว่าจะต้องหาทางบอกทางคุณ หรือไปส่งคุณยังไง เราแนะนำให้คุณพกแผนที่แบบกระดาษติดตัว เผื่อว่าโทรศัพท์คุณแบตหมดจะได้ไม่มีปัญหา

 

3. เงินช็อต

แหม ก็ไม่มีอะไร ก็แค่ช็อปปิ้งเพลิน ตระเวนกิน ตระเวนเที่ยวเยอะไปหน่อย อะไรๆ มันก็น่าสนใจไปหมดนี้นา มามะ ยู อินเตอร์จะมาบอกให้ฟังว่าถ้าเงินยูใกล้หมด จะต้องทำยังไงต่อดี จริงๆ น้องๆ ควรเริ่มต้นด้วยวางแผนการเงินอย่างรัดกุม ก่อนที่เราจะมาเรียนเมืองนอกนั้น ให้เราเผื่อเงินที่จะใช้จ่ายไว้เป็นส่วนๆ เอาเงินทั้งก้อนที่เราจะนำไปใช้จ่ายทั้งหมดมากางดูว่ามีเท่าไหร่ ให้กันไว้ 10% ว่าจะไม่ใช้ก้อนนี้จนกว่าจะถึงเวลากลับบ้าน ให้มันนอนอยู่ในธนาคารไป พยายามอย่าเอามาออกมาใช้ไม่ว่ากรณีไหน เงินส่วนนี้เราจะใช้ได้ก็ตอนที่จำเป็นสุดๆ หรือใกล้จะกลับเท่านั้น เพราะตอนก่อนจะกลับบ้าน มันจะมีค่าของฝาก ค่าของขวัญวันเกิด ค่าโน่น นี่ นั่น เยอะแยะแน่นอน เราค่อยนำเงินส่วนนี้แหละมาใช้  ส่วนเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็ใช้อย่างมีสติที่สุด เหยียบเบรกบ้างถ้าเห็นของเหล่านั้นไม่จำเป็น หรือบางประเทศสามารถหางานพาร์ทไทม์ทำได้ ก็ลองหางานเล็กๆ น้อยๆ ทำ เพื่อเพิ่มรายได้แต่อย่าทำเพลินจนไม่เป็นอันเรียนแล้วกัน เพราะเป้าหมายที่สำคัญของเราคือไปเรียนนะจ๊ะ

 

4. เผชิญปัญหาที่เกี่ยวกับ FOMO (FOMO : Fear of Missing Out กลัวการตกกระแส)

FOMO หรือ Fear of missing out คือการกลัวการตกยุค ตกกระแส ซึ่งเป็นสิ่งที่คนหลายคนกำลังเป็นอยู่ เช่น การต้องตามฟีดเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้รู้ว่า ณ ขณะนั้นมีเรื่องอะไรที่กำลังเป็นที่พูดถึงบ้าง หรือเมื่อเราไปอยู่ในบ้านเมืองที่มีวัฒนธรรมประเพณีต่างจากบ้านเรา บางครั้งเราก็เผลอทำตามกระแสไป โดยไม่ได้ชอบจริงๆ หรือสิ่งนั้นเป็นสิ่งไม่จำเป็น ทำให้เสียเวลา เสียเงิน ไปโดยใช่เหตุ เช่น สมชายไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ และที่นั่นเค้ามีประเพณีการชมฟุตบอล ลีคต่างๆ สมชายก็เลยต้องไปดูฟุตบอล เพื่อที่จะได้ทำให้ตัวเองไม่ตกกระแส ซึ่งจริงๆ แล้ว สมชายก็ไม่ได้ชอบดูฟุตบอลเท่าไหร่นัก ทำให้สมชายเสียเงินค่าตั๋วไปโดยใช่เหตุ หรือสมศรีไปเรียนต่อออสเตรเลียแล้วเพื่อนๆในคลาสชวนไปเที่ยวปาร์ตี้ทุกคืนวันศุกร์ แต่สมศรีไม่ชอบเที่ยว ไม่ชอบดื่ม แต่ต้องไปเพราะสังคมพาไป เป็นต้น ทีนี้ถ้าเผชิญปัญหาเหล่านี้ จะทำอย่างไรดีล่ะ ถ้าเราถลำไปแล้ว ยู-อินเตอร์มีวิธีง่ายๆ มาแนะนำกันจ้ะ ว่าจะถอนตัวยังไงดี

             ยู-อินเตอร์ แนะนำว่าต้องหาอะไรอย่างอื่นทำ ที่มันน่าสนใจกว่าหน้าจอโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เนต ออกไปผจญภัยข้างนอกบ้าง ไปเปิดโลกดูว่าประเทศเขามีอะไรที่น่าสนใจอีกเยอะแยะ หรือหาสิ่งที่เราสนใจจริงๆ ไม่ใช่แค่ไปตามกระแส เพื่อนเฮไปไหนเราก็เฮไปนั่น ซึ่งมันจะทำให้เราเสียเวลาและเสียเงินไปเปล่าๆ ถ้าเราไม่ชอบงานปาร์ตี้ ก็ไม่ต้องไป ปฏิเสธเพื่อนอย่างสุภาพ แล้วหาหนังสักเรื่อง หนังสือดีๆ สักเล่มนอนอ่านจะดีกว่า ไม่เสียเงินด้วย เราต้องมองหาข้อดีของการปฏิเสธ FOMO ให้ได้ หาแนวทางของตัวเอง ทำสิ่งที่ตัวเองมีความสุข ง่ายแค่นี้เองจ้ะ

 

5. โรคขี้เกียจไปเรียน

เอาล่ะ ยอมรับมาเถอะว่า มันก็มีอยู่บ้างบางช่วงที่ยูขี้เกียจไปเรียน ใช่ไหมๆๆ มันเกิดขึ้นได้กับทุกคนจ้า ไปเรียนก็เจอแต่หน้าครูคนเดิมๆ ให้นั่งเรียนภาษาที่ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ ให้นั่งท่องศัพท์ บลาๆๆๆ น่าเบื่อจะตาย 

             ทำยังไงดีให้ร่างกายสดชื่อ พร้อมจะไปเรียน ยู-อินเตอร์ อยากให้ทุกคนอ่านดีๆ เริ่มต้นด้วย การเปิดใจ ตั้งสติแล้วมองภาพรวม ว่าเรามาจุดนี้ทำไม ใช่สิ เรามาเรียน แล้วถ้าเราไม่ไปเรียน เกรดเราก็อาจจะตก สอบไม่ผ่าน หรือเวลาเรียนไม่พอ ซึงนั่นจะทำให้เราโดนไล่ออกจากโรงเรียนได้เลย หรือหนักหนาสุดๆ อาจจะโดนส่งกลับประเทศตัวเองได้เลยนะ อย่าทำเลยจ้า การโดดเรียนมันไม่ดีหรอก เสียทั้งเงิน เสียทั้งชื่อเสียง มีเคล็ดลับง่ายๆ ที่จะไม่ให้โดดเรียน เช่น หาแรงบันดาลใจที่โรงเรียน หรือให้ลองคิดว่า การไปเรียน หรือการเรียนอะไรยากๆ ที่โรงเรียนเป็นการเล่นเกมอย่างหนึ่ง หรือเป็นการผจญภัย ที่เราต้องผ่านมันไปให้ได้ คิดว่าความท้าทายเป็นสิ่งที่เราจะต้องเอาชนะมันให้ได้ หาเพื่อนร่วมอุดมการณ์สักคนช่วยเหลือกันเวลาที่ต้องเรียนอะไรยากๆ ถ้าเหนื่อยก็พักบ้างก็ได้ แต่อย่าโดดเรียนจนเวลาเรียนไม่พอ โอเคนะ!! ถ้าเราอยากได้อนาคตที่ดี อย่าโดด กลับไปเข้าห้องเรียนเดี๋ยวนี้

 

6. มีปัญหากับโซนเวลา น่ารำคาญจริง!

เบื่อนะ ที่ต้องลุกมากลางดึก ตี 2 ตี3 เพื่อที่จะโทรหาใครสักคนที่ประเทศไทย ก็เวลาของเรามันต่างกันนี่นา หรือเวลาไปถึงต่างประเทศใหม่ๆ ก็จะเกิดอาการเจ็ตแล็ก เวียนหัวกับเวลาบ้านเค้า จนทำให้นอนไม่หลับกันเลยทีเดียว

          ใช่จ้ะ ยู-อินเตอร์ว่ามันก็น่ารำคาญอยู่นะ แต่มันไม่ใช่เรื่องใหญ่หรอก มีวิธีแก้ง่ายๆ สำหรับคนที่เจ็ตแล็ค คือ ฝึกเข้านอนและตื่นในเวลาของประเทศที่เราจะไปอยู่ ซ้อมไว้ล่วงหน้าสัก 2-3 วัน และเผื่อเวลาไปถึงประเทศปลายทางล่วงหน้าก่อนไปเรียนสัก 2-3 วัน เตรียมตัว ตื่นนอนในเวลาประเทศนั้นๆ ใช้เวลาให้ชิน ถ้าปวดหัวก็สามารถพักได้ เมื่อถึงเวลาต้องไปเรียนจริงๆ จะได้ไม่มีปัญหา 

           ส่วนเรื่องเวลาของเราไม่ตรงกันกับคนที่บ้านในไทย ก็แค่ให้เราลองหาเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่เราจะทำได้ ทำการตกลงกับอีกฟากโลกนึงที่เราอยากติดต่อด้วย ว่าทางโน่นเค้าสะดวกเวลาอะไรในการคุยกับเรา ก็ให้เราตั้งเวลานั้นไว้ ให้เลือกเป็นเวลาที่เช้าที่สุด หรือช่วงเย็นๆ เลย ที่ไม่ตรงกับเวลาเรียนของเรา แล้วทำให้เป็นนิสัยเลยว่า ช่วงเวลานั้นเราจะต้องได้คุยกับคนทางบ้าน ถ้าเราได้ตั้งเวลานั้นไว้แล้วทำเป็นกิจวัตรแล้ว เราก็จะไม่หัวเสียหลุดหงิดกับปัญหา ไทม์โซนอีกต่อไป

 

7. ดูเป็นตัวประหลาดในต่างบ้านต่างเมือง

บางคนจะถูกมองข้าม ไม่ได้รับความสนใจ หรือโดนมองว่าเป็นคนประหลาด เมื่อไปศึกษาในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสำเนียงการพูด บุคลิกท่าทาง หรือนิสัยใจคอ ถ้าคุณโดนมองอะไรแบบนี้ อย่าพึ่งจิตตก คุณไม่ได้เนิร์ดจนใครคบไม่ได้สักหน่อย ถ้าคุณมั่นใจว่าเจอเพื่อนร่วมชั้นที่มีนิสัยชอบดูถูกคนอื่น หรือชอบแกล้ง และมาว่าคุณเป็นตัวประหลาด ไม่ต้องไปสนใจพวกเขาหรอก เราสามารถมีสังคมจากที่อื่นก็ได้นี่นา ออกไปดูบ้านเมืองเค้ารอบๆ ไปร้านอาหารใหม่เพื่อเจอคนแปลกหน้า และสร้างไมตรีกับคนเหล่านั้นไว้บ้าง ตั้งหน้าตั้งตาเรียน รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองต้องทำให้ดี ช่วยเหลือทุกคนด้วยมิตรไมตรี ไม่แน่ คนเหล่านั้นเค้าอาจจะกลับมามองเราในแง่มุมดีๆ ก็เป็นได้ อย่าท้อถอย คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่คนเดียว และไม่มีใครที่ไม่ชอบมีเพื่อนหรอกน่า ยิ้มเข้าไว้ คนไทยเมืองยิ้มนะ จำไว้ๆ ยู-อินเตอร์ ขอให้กำลังใจทุกคน

 

8. รู้สึกเคว้งคว้าง

บางทีมองไปรอบๆ แล้วทำไมรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวจังเลย ทั้งๆ ที่เราห็ถูกห้อมล้อมไปด้วยผู้คน เพื่อนฝูงมากมาย แต่ลึกๆ มันยังรู้สึกโดดเดี่ยวแปลกๆ นะ ใช่แล้ว นั่นก็พราะเราอยู่ในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาเรา ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของเรา เป็นบ้านเมืองที่เราไม่คุ้นเคย ผู้คนที่รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกับเรา มันเลยทำให้เรารู้สึกแปลกแนก และโดดเดี่ยว

             จะกำจัดความรู้สึกนี้ให้หมดไปไม่ยาก ลองเดินทางไปดูรอบๆเมือง ค้นหาสถานที่ที่เราไปแล้วรู้สึเหมือนอยู่บ้าน หรือลองไปเที่ยวในย่านที่คล้ายๆประเทศไทยบ้าง ถ้าไม่มีไทยทาวน์ ก็ลองไปเยี่ยมเยียนไชน่าทาวน์ก็ยังดี มันอาจจะต้องใช้เวลาในการกำจัดความรู้สึกโดดเดี่ยวนี้ไป แต่ถ้าลองทำวิธีนี้ 1-2 สัปดาห์ก็หายแล้ว อย่าลืมสร้างไมตรีกับเพื่อนที่คล้ายๆ ตัวเองไว้บ้างก็ดี จะทำให้เราโดดเดี่ยวน้อยลง 

 

9. สำเนียงมันไม่ได้

เวลาไปต่างประเทศใหม่ๆ แล้วต้องพูดภาษาเค้า ยังไงมันก็จะไม่เป๊ะ เข้าร้านอาหารจะสั่งไก่ ก็สั่งแล้วสั่งอีกกว่าคนที่ร้านจะเข้าใจ เห้อ!! เหนื่อยเหลือเกิน การสื่อสารภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาเรานี่ รู้ศัพท์อย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องพูดสำเนียงให้ถูกต้องด้วย ก็นี่ยังไงล่ะ ทำให้เราต้องไปเรียนที่บ้านเค้าเมืองเค้า เพราะถ้าอยู่เมืองไทยก็จะพูดได้แต่สำเนียงไทยๆ ที่คนอื่นเค้าฟังไม่รู้เรื่อง

               ถ้าคุณเจอปัญหานี้ ยู-อินเตอร์ แนะนำให้คุณโหลดแอพแปลภาษามาไว้ในมือถือซะ มีหลายโปรแกรมมาก ลองหาดูนะ เวลาต้องสื่อสารกับคนอื่น แล้วกลัวเค้าจะไม่เข้าใจก็ใช้โปรแกรมแปลภาษานี้ช่วย พยายามศึกษาสำเนียงจากแอพ และจากคนที่เราคุยด้วย ฝึกฝนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็คล่องเอง ขอให้อดทนไว้ พยายามต่อไป อย่าท้อ เรียนรู้จากความผิดพลาดไปเรื่อยๆ เราจะไม่ผิดตลอดไปหรอกน่า ถ้าเราฝึกฝนและเรียนรู้สักวันคุณก็จะสำเร็จได้สักวัน

 

10. อยากอยู่ที่นั่นตลอดไป

ข้อบนๆ ยังบ่นเรื่องโฮมซิก อโลน โดดเดี่ยวอยู่เลย พอมาข้อสุดท้ายดันหลงรักเมืองนี้เข้าให้แล้ว แหม ก็อยู่ไปๆ มันก็หลงรักเสียแล้วน่ะสิ ทำยังไงดี ดึงสติจ้ะ สติ แล้วนึกให้ดีว่า หน้าที่ของเราคืออะไร ถ้าคุณมีอิสระในชีวิต พร้อมที่จะผจญภัยต่อ ก็ไม่ผิดที่คุณจะหาทางอยู่ประเทศนั้นต่อไป (อย่างถูกกฎหมายนะจ้ะ) แต่ถ้าเรามีความรับผิดชอบที่จะต้องกลับบ้านเกิดเมืองนอน ไม่ว่าจะครอบครัว หน้าที่การงาน ทำงานใช้ทุน ฯลฯ ก็จงเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากที่นั่นให้เต็มที่ แล้วกลับมาบ้านเรา ทำสิ่งที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ ที่ตรงนั้นเราสามารถกลับไปได้อีกเรื่อยๆ ลองชั่งใจดูระหว่าง 2 ประเทศที่คุณอยากใช้ชีวิตให้ดีๆ คุณมีสิทธิ์คิดและตัดสินใจ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และทำตามหัวใจของตัวเอง หากคุณไม่สามารถอยู่ประเทศนั้นต่อได้ เขียนความประทับใจไว้ในไดอารี่ เก็บภาพถ่ายสิ่งที่ประทับใจไว้ให้มากที่สุดในช่วงที่คุณยังใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น เวลาย้อนไปอ่าน ความทรงจำเดิมๆ มันจะไม่หายไปไหน มันยังอยู่ให้เราคิดถึงเสมอ ยู-อินเตอร์ เอาใจช่วยทุกคนจ้า

bottom of page